ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง รู้ก่อน ป้องกันได้
การมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง ทำให้คนเรามีพลังและมีจังหวะชีวิตที่หลากหลาย ทว่าจากสถิติที่ผ่านมา ‘โรคหัวใจ’ กลับเป็นโรคร้ายอันดับที่ 1 ของโลกที่คร่าชีวิตมนุษย์เราไปโดยมิทันได้ตั้งตัว หากเราทราบสัญญาณเตือนล่วงหน้า ย่อมจะสามารถป้องกันตนจากโรคภัยดังกล่าวได้ทันท่วงที
ยิ่งโฟกัสมาที่ประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน ผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน เมื่อจำแนกเป็นรายจังหวัดพบว่า กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจมากที่สุดถึง 40% และมีแนวโน้มว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จะเห็นว่าโรคหัวใจช่างใกล้ตัวเราเหลือเกิน
นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อธิบายว่าในร่างกายของเรานั้นมีหลอดเลือดแดงใหญ่ที่นำเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณใดมีการขยายตัวจนโป่งพอง จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ซึ่งหากแตกออกจะทำให้เสียชีวิตได้
“นอกจากนี้ ยังมีอีกโรคหนึ่งที่เรียกว่า
‘โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกเซาะ’ โรคนี้เกิดจากผนังของหลอดเลือดบางส่วนแตก แต่ไม่ได้ทะลุออกมาด้านนอก แต่จะแตกเซาะเข้าไปในผนังชั้นกลางของหลอดเลือดแดงใหญ่ ทำให้ผนังของหลอดเลือดด้านนอกโป่งออก ส่วนด้านในจะแฟบเข้าทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ เช่น ถ้าเซาะไปที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือถ้าเซาะไปที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้”
สัญญานบอกเหตุว่าเราเป็นโรคเส้นเลือดแดงโป่งพองหรือไม่ สามารถทราบได้จากการตรวจสุขภาพ เอ็กซเรย์ หรืออัลตร้าซาวด์ การตรวจคัดกรองถือว่ามีประโยชน์มากในการช่วยวางแผนการรักษาและการป้องกัน ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทางหลอดเลือดทั้งร่างกาย ได้แก่
การตรวจ ABI เพื่อดูสภาพเส้นเลือดที่ขา,
การตรวจ Carotid dropper เพื่อดูเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอที่ไปเลี้ยงสมอง,
การตรวจ Aneurysm Screening เพื่อดูเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองบริเวณหน้าอกและช่องท้อง,
การตรวจ M.R.A. Brain เพื่อดูสภาพเส้นเลือดสมอง
หากตรวจพบในระยะแรกที่หลอดเลือดยังโป่งพองไม่มาก สามารถใช้ยารักษาและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดไม่โป่งพองมากขึ้นหรือโป่งพองช้าลงได้
“สำหรับโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกเซาะแล้ว มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันโดยไม่มีอาการบอกล่วงหน้า จะมีอาการต่อเมื่อมีการแตกเซาะแล้วเท่านั้น ส่วนใหญ่จะมีอาการแน่นหน้าอกและร้าวไปที่ด้านหลัง บางรายจะร้าวลงไปในช่องท้องขณะที่บางรายจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง หน้ามืด และหมดสติได้ ถ้าเป็นการแตกเซาะของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องทรวงอกทางด้านหน้า ควรได้รับการผ่าตัดรักษาทันที มิฉะนั้นผู้ป่วยจะเสียชีวิต
ซึ่งทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพของเรา มีทีมแพทย์ที่พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ลัเมื่อวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคนี้ จะสามารถทำการผ่าตัดฉุกเฉินได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง”
เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงนี้ คือเวลา ‘ทองคำ’ ที่ทีมแพทย์จะต้องเตรียมความพร้อมระบบต่างๆ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการจองเลือด เกล็ดเลือด ซึ่งห้องเลือดของโรงพยาบาลกรุงเทพสามารถหาเลือดให้กับแพทย์ผ่าตัดได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงเทคโนโลยีทันสมัยของอุปกรณ์สำคัญและห้องปฏิบัติการ
“การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงคือทางป้องกันที่ดีที่สุด โดยรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย แคลอรี่ต่ำ งดเว้นคาเฟอีน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ชีพจรเต้นช้าลง ทำให้แรงกระแทกภายในหลอดเลือดแดงใหญ่น้อยลง โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองหรือโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะก็น้อยลงเช่นกัน
ที่สำคัญควรลดความเสี่ยงด้วยการตรวจคัดกรอง เพราะหาก ‘รู้ก่อน..ป้องกันได้..โอกาสหายย่อมสูงกว่า’