เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging [MRI] เป็นเครื่องมือสำหรับตรวจภายนอกสำหรับตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายใน (Non-Invasive Tool) ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจด้วย MRI จะไม่ได้รับรังสีเอกซเรย์ เพราะ MRI เป็นเครื่องมือที่ไม่ใช้รังสีเอกซเรย์ในการสร้างภาพถ่ายในการวินิจฉัยโรค
เครื่อง MRI ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพใช้วินิจฉัยโรคด้วย MRI ที่มีระดับความเข้มของสนามแม่เหล็ก 3 เทสลา [3.0 Tesla] ใช้สำหรับการวินิจฉัยอาการความผิดปกติ ของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งสามารถแสดงผลตรวจได้อย่างมีคุณภาพและมีความละเอียดสูง โดยเฉพาะการตรวจหาโรคของความผิดปกติของเนื้อเยื่อของหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคอะไมลอยโดสิส ของ กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Amyloidosis) โรคของลิ้นหัวใจ โรคที่เกิดจากเหล็กจับตัวที่กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Hemochromatosis) โรคของหลอดเลือดโคโรนารี และหลอดเลือดแดงใหญ่ โรคหัวใจและหลอดเลืดที่ผิดปกติมาแต่กำเนิด(Congenital Heart Disease) รวมถึงการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการกระตุ้นด้วยยาเป็นต้น (MRI Stress Test with Pharmacologic Induction)
การตรวจด้วย MRI เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับผู้ป่วยเด็กเพราะไม่ต้องเสี่ยงต่อการได้รับรังสีเอกซเรย์ หรือ ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ต่อสารทึบรังสีชนิดไอโอดีนอย่างรุนแรง และผู้ป่วยที่ปราศจากข้อห้ามในการตรวจ MRI หรือ ข้อห้ามในการได้รับสารเปรียบต่าง Gadolinium –Based เข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดดำ
ข้อห้ามในการตรวจ MRI
ได้แก่ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทำด้วยโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้น (Pacemaker) หรือกระตุกหัวใจ (ICD; Implantable Cardioverter Defibrillator) การผ่าตัดใส่คลิปหลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm Clip) การผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมภายในหู (Cochlear Implants) ผู้ป่วยที่มีโลหะอยู่ในร่างกาย เช่น เศษโลหะฝังอยู่ที่ลูกตา ข้อเทียมต่าง ๆ โลหะดามกระดูก เศษกระสุนปืน เป็นต้น ผู้ป่วยกลัวที่แคบ หรือไม่สามารถนอนในอุโมงค์ตรวจได้ ผู้ป่วยมีค่าไต Creatinine > 1.5 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร หรือค่าอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะโรคไตเพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนการตรวจ MRI ที่ต้องให้สารแปรียบต่าง Gadolinium–Based เข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย
การนัดตรวจ MRI
- แผนก Cardiac Imaging ชั้น B อาคารโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โทร. 0 - 2755 - 1292, 0 - 2755 - 1294
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
1. ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ ยกเว้นกรณีที่ผู้ปู่วยไม่ให้ความร่วมมือจําเป็นต้องให้ยาระงับความรู้สึก หรือดมยาสลบ
2. วันที่มารับการตรวจ ห้ามใช้เครื่องสําอาง เช่น อายแชโดว์ มาสคาร่า เนื่องจากมีส่วนผสมของโลหะ ซึ่งจะรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
3. วันตรวจควรมีญาติมาด้วยอย่างน้อย 1 คน กรณีที่ผู้ป่วยไม่ร่วมมือ ต้องดมยาสลบขณะตรวจ และต้องลงชื่อยินยอมในใบยินยอมการตรวจรักษา ถ้าผู้ป่วยลงชื่อเองไม่ได้ต้องให้ผู้ดูแลโดยชอบธรรมลงชื่อแทน
การปฏิบัติตัวก่อนเข้าห้องตรวจ และขณะเข้ารับการตรวจ
1. เปลี่ยนเสื้อผ้าและสวมรองเท้าที่จัดเตรียมไว้ให้
2. ถอดเครื่องประดับและของใช้ที่เป็นโลหะออกจากร่างกายให้หมด เช่น กิ๊บติดผม ฟันปลอม ต่างหูบัตรที่มีแถบโลหะ (บัตร ATM หรือบัตรเครดิต) เป็นต้น
3. ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดใส่โลหะในร่างกายหรือวัตถุอื่น ๆ ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนเข้าห้องตรวจทุกครั้ง
4. ควรปัสสาวะก่อนเข้าห้องตรวจ เนื่องจากการตรวจอาจใช้เวลานาน
5. ใช้เครื่องอุดหูที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ก่อนเข้าห้องตรวจ เนื่องจากจะมีเสียงดังของคลื่นแม่เหล็กรบกวนในขณะตรวจ
6. ระหว่างการตรวจ ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งที่ทําการตรวจ เพื่อจะได้ภาพที่ชัดเจน
7. กดสัญญาณขอความช่วยเหลือเมื่อมีอาการผิดปกติเช่น แน่น อึดอัด หายใจไม่ออก