สุขภาพดี ลดเสี่ยง “หลอดเลือดหัวใจตีบตัน”

“หลอดเลือดหัวใจตีบ” เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งอาจรุนแรงและเป็นต้นเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจล้มเหลว เรียกได้ว่า คืออีกหนึ่งวิกฤตที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
หากด้วยพฤติกรรมวิถีชีวิตและการบริโภคของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป กำลังเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงด้านสุขภาพและต่อหัวใจของเรา เห็นได้จากสถิติคนไทยในปัจจุบันเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมากเป็นอันดับต้นๆ
นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เล่าถึงสาเหตุของโรคนี้ว่า ปกติคนเรามีเส้นเลือดหรือหลอดเลือดใหญ่และหลอดเลือดขนาดเล็กที่ส่งเลือดออกจากหัวใจไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งหัวใจเอง โดยปกติหลอดเลือดขนาดเล็กจะมีขนาดเพียง 2-4 มิลลิเมตร หากถูกไขมันเกาะหรือพอกสะสม รวมถึงอาจมี
แคลเซียม (plaque) ไปเกาะทับ จนทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงจนเลือดไหลผ่านไม่สะดวก หากอยู่ในจุดที่ตีบมากๆ หรือไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจได้มากพอ ก็อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

“คนไข้ที่มาตรวจและพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ส่วนใหญ่มักมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก บางรายมีอาการแน่นหน้าอกโดยชี้ตำแหน่งที่ชัดเจนไม่ได้ หรือปวดร้าวไปถึงกรามหรือแขน โดยเฉพาะซีกซ้าย บางรายมีอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม (shortness of breathing) เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยผิดปกติหรือเจ็บหน้าอกมากขึ้น บางคนอยู่ๆ ก็ออกกำลังกายได้น้อยลง เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า อาจมีอาการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
สำหรับบางคนอาจไม่มีอาการชัดเจนแบบนี้ก็ได้ แต่มาด้วยอาการจุกแน่นลิ้นปี่ก็มี บางคนมาด้วยอาการจุกตรงคอหรือปวดกรามก็มี”
เมื่อเอ่ยถึงปัจจัยที่เป็นต้นเหตุทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจมีอาการตีบหรือตัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเอ่ยว่า การมีไขมันในเส้นเลือดสูงคือความ “เสี่ยง” ที่ทำให้เส้นเลือดตีบตันอย่างมีนัยสำคัญ
“ปกติร่างกายเรามีไขมันสองชนิด คือไขมันดี (HDL) และไขมันเลว (LDL) หรือคลอเลสเตอรอล ไขมันดีมีหน้าที่ช่วยลดการเกาะพอกที่ผนังเส้นเลือด ส่วนไขมันเลวคือการเพิ่มโอกาสเกาะหรือพอกมากขึ้น ดังนั้น โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคนี้ควรมีไขมันดีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของไขมันเลวเพื่อป้องกันไม่ให้โอกาสตีบซ้ำหรือตีบมากขึ้น”
ขณะที่ความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคอย่างเบาหวาน การสูบบุหรี่ และความเครียด ตลอดจนน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน รวมถึง “ชีพจร” ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เส้นเลือดตีบเร็วขึ้นได้ทั้งหมดเช่นกัน
“
หากหัวใจเราเต้นเร็วแสดงว่าหัวใจเราต้องการเลือดและอาหารไปเลี้ยงค่อนข้างมาก ดังนั้น หัวใจควรเต้นช้าเพื่อใช้พลังงานจากอาหารและเลือดน้อยลง สำหรับในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเราอยากให้ชีพจรค่อนข้างช้าที่ 60-70 และความดันไม่สูงเกินไป คือควรอยู่ในระหว่าง 120-140 แต่ไม่ควรเกิน 150 เพื่อลดแรงกระแทกจนเกิดแผลที่ผนังของเลือด”
ในกระบวนการตรวจหาโรคและการรักษา ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการแพทย์ที่หลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับความสถานการณ์ของผู้ป่วย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram) อาจใช้เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้น แต่ในการตรวจระดับที่ลึกลงไปแล้ว สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การวิ่งสายพาน การทำอัลตร้าซาวนด์หัวใจ (Exercise Stress Echo) ซึ่งเป็นการใช้คลื่นสะท้อนความถี่สูง สำหรับคนไข้วิ่งบนสายพานไม่ไหว แพทย์จะใช้วิธีที่เรียกว่า Dobutamine Echocardiogram เป็นการฉีดยาเข้าไปในเส้นเลือด ซึ่งเป็นการกระตุ้นหัวใจที่เลียนแบบการวิ่งบนสายพาน นอกจากนี้ยังมีการตรวจโดยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ ส่วนวิธีการสวนหัวใจหรือฉีดสี ถือเป็นการตรวจที่ให้ผลแม่นยำที่สุด ทั้งสามารถดูว่าเส้นเลือดไหนตีบมากน้อยเพียงไหน เพื่อนำมาใช้แนวทางการรักษาต่อไป
“
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันอย่างมีนัยสำคัญจะต้องตีบอย่างน้อย 50-60 เปอร์เซ็นขึ้นไป ถ้าน้อยกว่านั้นถือว่ามีการตีบแต่เลือดยังไปเลี้ยงหัวใจพอก็จะรักษาด้วยการให้ยา”
ในด้านทางการรักษา หากเส้นเลือดหัวใจตีบไม่มาก แต่ทดสอบสมรรถภาพหัวใจแล้วผลออกมาเนกาทีฟ คือเลือดยังไปเลี้ยงหัวใจพอ กลุ่มนี้สามารถรักษาได้โดยทางยาป้องกันเกล็ดเลือดแข็งตัว และควบคุมปัจจัยเสี่ยง ส่วนการรักษาโดยการทำบอลลูนหรือถ่างขยายเส้นเลือด พร้อมใส่ขดลวด จะใช้สำหรับกลุ่มที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบที่มีนัยสำคัญ (มากกว่า 60-70 เปอร์เซ็น)

“ส่วนการผ่าตัดเราจะทำเมื่อเส้นเลือดตีบมากๆ หลายๆเส้น หรือตีบที่ขั้วเส้นเลือดบางตำแหน่ง อาจใช้การรักษาโดยบอลลูนหรือขดลวดถ่างขยายได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ที่การประเมินของแพทย์ทำบอลลูนและแพทยที่ฉีดสี ว่ามีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน ไม่เช่นนั้นต้องเลือกวิธีการผ่าตัดแทน”
ในด้านการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการทำบายพาส นายแพทย์วิฑูรย์เผยว่า การผ่าตัดมีสองเทคนิคที่นิยมคือ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ แบบต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (On-Pump CABG) เพื่อหยุดการทำงานของหัวใจทั้งหมด และการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) หรือที่เรียกว่าเทคนิคผ่าตัดแบบ “ไม่ต้องหยุดหัวใจ” ซึ่งเป็นการใช้เครื่องมือพิเศษ Stabilizer เพื่อทำการหยุดนิ่งเฉพาะที่จุดที่ทำต่อเส้นเลือดเท่านั้น
“จากรายงานวิชาการในต่างประเทศ มีสถิติในสหรัฐอเมริกา พบกว่าการผ่าตัดโดยไม่หยุดหัวใจ เหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอัตราการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจไม่ดี ไตทำงานไม่ดี และคนไข้กลุ่มสูงอายุ หรือมีเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบหรือเคยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ขณะที่การทำผ่าตัดโดยใช้ปอดและหัวใจเทียมหยุดหัวใจทั้งหมด ต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดมากกว่าสามเท่า เพราะฉะนั้นจะมีโอกาสเสียเลือดและให้เลือดมากกว่า ซึ่งที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เราทำเทคนิคผ่าตัดแบบไม่หยุดหัวใจมาพันกว่าราย พบอัตราเสียชีวิตเพียงประมาณ 1.2 เปอร์เซ็น ส่วนคนไข้ที่อายุมากที่สุด คือ 92 ปี และคนไทยที่หัวใจทำงานน้อยสุดคือการบีบตัวเหลือ 8 เปอร์เซ็น”
ท้ายสุดนายแพทย์วิฑูรย์เอ่ยว่า แม้เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่ทำการรักษาหรือผ่าตัดไปแล้ว ก็สามารถรักษาและยืดอายุได้อีกนับสิบปี หากระมัดระวังดูแลสุขภาพตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด
“สิ่งสำคัญคือหลังการรักษาหรือผ่าตัดแล้ว เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราแก้ไขไปอยู่ได้นาน ก็ต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย ปลา ผัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอและต่อเนื่องจะช่วยให้ความดันลดลงเองและชีพจรเต้นช้าลง และทำให้ไขมันตัวดีเพิ่มขึ้น ไม่เครียด ไม่สูบบุหรี่และคุมโรคประจำตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโอกาสเป็นใหม่อีกหรือช้าลง”