คลินิกฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจ
การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจคืออะไร
การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจ คือ เวชศาสตร์ฟื้นฟูทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจ โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจประกอบด้วยการประเมินจากแพทย์ก่อนเริ่มโปรแกรม การให้คำแนะนำในการดูแลหัวใจให้แข็งแรง การออกกำลังกาย และการลดความเครียด เพื่อที่ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ
การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยมีการฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสมจากโรคหัวใจประเภทต่าง ๆ โดยจะถูกจัดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย ทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ และบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟู ส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด
ข้อบ่งชี้ในการฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจ
การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจมีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวในด้านการออกกำลังกาย การให้คำปรึกษา คำแนะนำเกี่ยวกับโรคหัวใจและการใช้ชีวิตของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ คือ
- ผู้ป่วยที่ต้องการลดความเสี่ยงภายหลังจากการเกิดโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Angioplasty)
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Bypass Surgery)
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจที่ไม่ใช่หลอดเลือดหัวใจ (Non-Coronary Cardiac Surgery)
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง (Chronic, Stable Angina Pectoris)
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้ป่วยที่ยังไม่เคยมีปัญหาโรคหัวใจแต่มีความเสี่ยงสูง
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจและมีอาการแย่ลงจากโรคประจำตัวต่าง ๆ
เป้าหมายของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจคือการฟื้นฟูทางด้านร่างกาย จิตใจ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตประจำวันและการกลับเข้าสังคมของผู้ป่วยรวมถึงลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจในอนาคต
ระยะของการฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจ
การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจขณะที่ผู้ป่วยยังอยู่ในโรงพยาบาล โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจจะเข้าเยี่ยมผู้ป่วย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับตัวโรค การฟื้นตัว และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงมีการทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม
- ระยะที่ 2 การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจแบบผู้ป่วยนอกหลังออกจากโรงพยาบาล โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมาตามนัดเพื่อตรวจติดตามและปรับเปลี่ยนโปรแกรมตามความเหมาะสม ระยะนี้อาจใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน
- ระยะที่ 3 การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นความแข็งแรงด้านร่างกายและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ผู้ป่วยควรมีการออกกำลังกายประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ประโยชน์และการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจในอนาคต
- เพิ่มความอดทนในการออกกำลังกาย
- ควบคุมอาการของโรค
- ลดระดับไขมันในเลือด
- ควบคุมน้ำหนักตัว
- ควบคุมความดันโลหิต
- ลดการสูบบุหรี่
- ช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจและสังคมที่ดีขึ้น
- ลดความเครียด
- ช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวเข้ากับสังคมได้
- ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปทำงานได้
- ลดอัตราการเสียชีวิต
การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจมีความเสี่ยงหรือไม่
การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจมีความเสี่ยงน้อยมาก ปัญหาจากการเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ อาการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อ กระดูก หรือการเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจ
การออกกำลังกายในระยะแรกปลอดภัยกว่าเมื่ออยู่ในโรงพยาบาล โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการสอนผู้ป่วยโรคหัวใจให้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม มีการเฝ้าระวังและประเมินว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ปลอดภัย โดยการวัดความดันโลหิตและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายเพื่อดูการปรับตัวของหัวใจ
หลังจากได้รับการแนะนำและฝึกปฏิบัติที่โรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถออกกำลังกายที่บ้านได้อย่างปลอดภัย โดยผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำถึงสัญญาณเตือนและอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย เมื่อไรที่ควรหยุดออกกำลังกายและมาพบแพทย์
การบริการของคลินิกฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ
โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจจะถูกออกแบบให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนตามความรุนแรงของโรค แบ่งเป็น
- โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจสำหรับผู้ป่วยใน
การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจสำหรับผู้ป่วยขณะที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากมีปัญหาด้านหัวใจและหลอดเลือดหรือได้รับการผ่าตัด ทีมผู้เชี่ยวชาญจะมีการประเมินผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนผ่าตัดและดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดอย่างเหมาะสม รวมถึงจัดโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติโดยเร็วที่สุด
โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจสำหรับผู้ป่วยใน ประกอบไปด้วย
- มีการเฝ้าระวังและประเมินความก้าวหน้าของผู้ป่วยด้านการออกกำลังกายอย่างใกล้ชิดเพื่อหาระดับการออกกำลังกายที่เหมาะสมของผู้ป่วยในระยะพักฟื้น
- การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับตัวโรค ปัจจัยเสี่ยง การปรับเปลี่ยนที่ควรทำ เทคนิคการประเมินตัวเอง และแนวทางการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ
- การประเมินความคิดความเข้าใจ (Cognitive Function) ในผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ
- โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจสำหรับผู้ป่วยนอก
เพื่อเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคมได้ หลังจากออกจากโรงพยาบาล แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมาเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง ประมาณ 12 - 16 สัปดาห์
โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจสำหรับผู้ป่วยนอก ประกอบไปด้วย
1. การดูแลและประเมินการออกกำลังกายของผู้ป่วยแต่ละรายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อสมรรถภาพหัวใจและปอด โดยไม่ให้มีการออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป และให้คำแนะนำผู้ป่วยในการสังเกตและประเมินตนเองขณะอยู่ที่บ้าน
2. มุ่งเน้นการให้คำแนะนำผู้ป่วยด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค